Massautocar สำรวจภาวะตลาดรถยนต์ไทยโดยสถิติยอดจดทะเบียนรถใหม่ตามพรบ.ขนส่ง กรมการขนส่งทางบก พบว่า รถยนต์ไทยอยู่ในช่วงขาลงเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตึงตัว สถิติการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ (ไม่รวมรถ 3 ล้อส่วนบุคคลและ รถบรรทุกขนาดใหญ่) ช่วงครึ่งปีแรก 2567 (ม.ค.-มิ.ย.2567) มียอดรวม 347,214 คัน ลดลงจากระยะเวลาเดียวกับของปีที่แล้ว 23.35% ทั้งนี้ครึ่งปีแรก 2566 รถยนต์ใหม่มีการจดทะเบียนรวม 452,995 คัน และหากคิดในเชิงปริมาณพบว่าในครึ่งปีแรก 2567 มีสถิติรถยนต์จดทะเบียนลดลง 105,781 คันเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนยอดจดทะเบียนเฉพาะเดือน มิ.ย.2567 มีจำนวนรถยนต์รวม 53,338 คันลดลง 26.24%
สำหรับตลาดรถกระบะ ขนาด 1 ตัน (ไม่รวมกระบะดัดแปลง ) มีการจดทะเบียนรวม 102,792 คัน สามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดรวม 29.60% ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มียอดจดทะเบียนจำนวน 36,857 คันเติบโตเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 16.55% และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดรวม 10.62% ทั้งนี้รถยนต์ที่มียอดจะทะเบียนสูงสุดปรากฏว่า BYD ขึ้นมาติดอันดับท็อป 5 ของวงการรถยนต์เมืองไทยเป็นครั้งแรก
10 อันดับรถยนต์ที่จดทะเบียนสูงสุด 6 เดือนแรก** ได้แก่
อันดับที่ 1. TOYOTA จำนวน 96,144 คัน
อันดับที่ 2.HONDA จำนวน 50,632 คัน
อันดับที่ 3.ISUZU จำนวน 31,053 คัน
อันดับที่ 4. BYD จำนวน14,665 คัน
อันดับที่ 5. FORD จำนวน 14,288 คัน
อันดับที่ 6. MITSUBISHI จำนวน 12,566 คัน
อันดับที่7. MG จำนวน10,228คัน
อันดับที่ 8.BMW จำนวน6,618 คัน
อันดับที่9. MAZDA จำนวน6,319 คัน
อันดับที่10. NISSAN จำนวน 5,759 คัน
ทิศทางครึ่งปีหลัง2567
ตลาดรถยนต์โดยรวมมีผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ ซบเซาจากการคาดการณ์ของกระทรวงการคลังในเดือน มี.ค.2567 คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อ แต่หลังจากนั้นได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ ในอัตราที่ลดลงซึ่งขนาดประมาณการณ์ที่ 2.4% ยังซบเซาขนาดนี้ดังนั้นตลาดรถยนต์ยังคงอยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรงจะเห็นได้ว่า ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมีการลดการใช้กำลังการผลิตในส่วนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเศรษฐกิจคือ รถยนต์ราคาประหยัด และรถยนต์กระบะ ส่วนนี้ยกเว้นรถยนต์ไฟฟ้าแม้ตลาดเริ่มลดความร้อนแรงลงแต่ ยังไม่อยู่ในแดนลบเพราะความแตกต่างของเทคโนโลยีและความสามารถในการตอบโจทย์การใช้งานเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ
คาดว่า ตลาดรถยนต์ในปลายปีจะปิดยอดรวม 7 แสนคันและยังเป็นตัวเลขการเติบโตลดลงในอัตรา 2 หลัก
ตลาดรถกระบะจีนปรากฏตัว
ตลาดรถกระบะ ขนาด 1 ตัน (ไม่รวมกระบะดัดแปลง ) มีการจดทะเบียนรวม 102,792 คัน มีสัดส่วนการครองตลาดรวม 29.60% โดยยอดขายสูงสุดอยู่ในเดือน ม.ค. จำนวน 22563 คัน และยอดขายต่ำสุดอยู่ในเดือน พ.ค. จำนวน 13,482 คัน สิ่งที่น่าสนใจในช่วง6เดือนแรก คือ มีรถจีนปรากฏตัวครั้งแรกในเดือน ก.พ. จำนวน 2 แบรนด์คือ JAC และ youkun โดยมียอดจดทะเบียนกระบะ JAC EVO-T8 ในกลุ่มรถยนต์แบบมีแคป 1 คันและ youkun ในตลาดจำนวน1คัน แม้จะเป็นการเริ่มเข้ามาครั้งแรกแต่ยังไม่มีการเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ
กระบะสายฮิป โตโยต้า แชมป์ ปรากฏรายงานการขายครั้งแรกในเดือน ก.พ.2567 ด้วยยอด 191 คัน ถือเป็นล็อตแรกที่มีการจดทะเบียนของกระบะ ราคาถูกจากโตโยต้า ตลาดกระบะซึ่งประกอบไปด้วยกระบะตอนเดียว กระบะมีแคป,กระบะ 4 ประตู, กระบะท้ายเรียบ ถือเป็นตลาดหลักยอดจดทะเบียนชะลอตัวโดยตลอดในเดือน มี.ค. เป็นเดือนที่น่าสนใจเพราะมีกระบะ POER จากจีนปรากฏตัวขึ้นในการบันทึกการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแบรนด์โดยมียอดจะทะเบียน 1 คัน เป็นรถยนต์กระบะจากจีนค่ายที่ 3 ที่มีการบันทึกในรอบครึ่งปี
เดือน มี.ค. เป็นเดือนของรถไฮลักซ์ แชมป์ที่สามารถส่งมอบรถได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยมียอด 644 คัน แม้การจะทะเบียนยังไม่สูงเทียบกับรีโว่ ที่ส่งมอบ 7,800 คันแต่นี่เป็นเพียงเดือนที่ 2 เท่านั้นของไฮลักซ์ แชมป์ที่ทำตลาดตลาดหลังเปิดตัวเดือนเม.ย. เป็นเดือนแห่งการรอคอยงานมอเตอร์โชว์ ตลาดเลยชะลอตัวลงเหลือ 15,287 คัน รถใหม่อย่างไฮลักซ์ แชมป์ เติบโตขึ้นเรื่อยด้วยยอด 741 คัน/เดือน
เดือน พ.ค. ตลาดรถยนต์กระบะทรุดตัวลงอย่างมากเหลือยอดเพียง 13,482 คัน ทั้งที่ผ่านการขายในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ายอดจดทะเบียนก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดแสดงให้เห็นถึงความซบเซาอย่างมากของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งพึ่งพากระบะในการประกอบอาชีพ ในเดือนนี้ อีซูซุ ดีแมคซ์ นิวสไตล์ ปรากฏตัวด้วยยอด 1 คันซึ่งเป็นการจะทะเบียนรถเพื่อการนำรถทดสอบ
ตลาดกระบะเดือน มิ. ย. ขยับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เพราะคำสั่งซื้อที่รอส่งมอบจากงานแสดงรถบางกอก มอเตอร์โชว์ อีซูซุมีรถใหม่เข้าตลาดแต่ช่วงการเปลี่ยนถ่ายโมเดล ทำให้ปริมาณการส่งมอบน้อยกว่า โตโยต้าค่อนข้างมากในขณะที กระบะ ไฮลักซ์แชมป์ สร้างความเติบโตต่อเนื่องให้โตโยต้าอย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากมีรถใหม่ตลาดเดือน มิ.ย. ปิดในแดนบวกที่จำนวน 15,193 คันเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.ในส่วนของทิศทางรถกระบะในครึ่งปีหลัง คาดว่าตลาดกระบะยังคงอยู่ในภาวะทรุดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกใดๆ มาสนับสนุนทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐ การแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่เข้มงวดโดยเฉพาะในตลาดกระบะที่ผู้ประกอบการรายย่อย ประสบปัญหาสภาพคล่องค่อนข้างมาก
กระบะขายดีในครึ่งปีแรก 2567
อันดับที่ 1. TOYOTA จำนวน 48,110 คัน
อันดับที่ 2. ISUZU จำนวน 36,556 คัน
อันดับที่ 3. FORD จำนวน 10,627 คัน
อันดับที่ 4. MITSUBISHI จำนวน 4,249 คัน
อันดับที่ 5. NISSAN จำนวน 1,656 คัน
อันดับที่ 6. SUZUKI จำนวน740 คัน
อันดับที่ 7. MG จำนวน 338คัน
อันดับที่ 8. MAZDA จำนวน 353คัน
อันดับที่ 9. FOTON จำนวน 95คัน
รถยนต์ไฟฟ้าปรับฐานแต่ยังโตเพิ่ม 16.55%
ทางด้านตลาดรถยนต์ไฟฟ้า(BEV) ที่ถูกมองว่าร้อนแรงมาโดยตลอด ตัวเลขจดทะเบียนจริงมีจำนวนไม่มากคือ 10 % ของตลาดรวมรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ร้อนแรงเพียงเดือน ม.ค. เดือนเดียวจากนั้นก็ปรับฐานสู่ความต้องการจริง โดยเดือน ม.ค.-มิ.ย.2567 รถยนต์ไฟฟ้า มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 36,857 คัน
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมมียอดจดทะเบียน จำนวน 36,857 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 16.55% จากยอดในปี 2566 จำนวน31,623 คัน
"ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในปลายปี 2566 จากงานมหกรรมยานยนต์ซึ่งส่งผลให้ยอดจดทะเบียนเดือน ม.ค. 2567 มียอดจดทะเบียนรวมเพียงเดือนเดียวจำนวน 13,491 คัน เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 343.78 % จากยอดเพียง 3,040 คันของปีที่แล้วอย่างไรก็ตาม เดือน ก.พ.-มิ.ย. รถยนต์ไฟฟ้ากลับมาจดทะเบียนเป็นปกติคืออยู่ในระดับ 3,000-5,000 คัน/เดือนเท่านั้นโดยเดือนที่มียอดจดทะเบียนต่ำสุดคือ เม.ย. มียอดเพียง 3,981 คัน
รถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1. BYD ผู้นำตลาดมียอดจะทะเบียน 14,775 คัน
อันดับ 2. MG จำนวน 5,164 คัน
อันดับ 3. NETA ยอดจดทะเบียน 3,988 คัน ซึ่งNETA ทำยอดเพิ่มขึ้นจากการเริ่มส่งมอบรถรุ่นใหม่ให้ผู้ซื้อได้อีกครั้ง
อันดับ 4. DEEPAL จำนวน 3,150 คัน
อันดับ 5. AION จำนวน 2,876 คัน
อันดับ 6. TESLA จำนวน 2,451 คัน
อันดับ 7. ORA จำนวน 1,642 คัน
อันดับ 8 ได้แก่ BMW จำนวน 816 คัน
อันดับ 9. ได้แก่VOLVO จำนวน 646 คัน
และอันดับ 10 WULING จำนวน 421 คัน
เป็นที่น่าสังเกตุว่า ในช่วง6เดือนแรก ค่ายญี่ปุ่นมีเพียง ฮอนด้า ค่ายเดียวที่มียอดจดทะเบียนรุ่น e:N1 จำนวนรวมกัน เพียง 70 คัน ซึ่งเป็นยอดส่งมอบเมื่อ เดือนเมษายนและพฤษภาคมรวมกัน แต่ไม่ติดในอันดับ ท็อป10
ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าของเดือนมิ.ย. 2567 พบว่า มีการจดทะเบียนรวม 5,698 คัน ลดลง 23.53 % เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ทำได้ 7,451 คัน โดย BYDรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดด้วยยอด 1,833 คัน ตามอันดับ 2. DEEPAL ยอด 768 คัน ขึ้นมาเบียด MG จากอันดับ 2 ไปอยู่อันดับ 4 ในขณะที่อันดับ 3. ได้แก่ AION จำนวน 677 คัน และ MG ยอดจดทะเบียน 599 คันอยู่ลำดับที่ 4 ลำดับที่ 5. ได้แก่ TESLA จำนวน 555 คันรักษาตำแหน่งเดิมไว้ได้ อันดับ6. คือ NETA 437คัน อันดับ 7. คือ ORA จำนวน342 คัน อันดับ 8. VOLVO จำนวน231คัน อันดับ 9 คือ BMW 141 คัน และอันดับ 10. WULING 34 คัน
ทิศทางตลาดBEV ครึ่งปีหลัง
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยทั่วไปตกอยู่ในแดนลบรวมถึงภาวะการซื้อขายของตลาดรถยนต์ถูกกดดันจาก หนี้ครัวเรือนทำให้กลุ่มสินค้ารถยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าราคาสูง มีความเสี่ยงต่อหนี้เสีย ถูกจำกัดและเข้มงวดในการสนับสนุนจากสถาบันการเงินและส่งผลอย่างรุนแรงต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ อย่างไรก็ตามคาดว่าเช็คเมนท์รถยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปีหลัง ยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่สนใจซื้อรถส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง-สูง มีความเชื่อถือทางด้านการเงินมากกว่ารถอื่นๆ
ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อรถยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปีหลัง 2567 คือ ค่ายมีรถยนต์ไฟฟ้าที่มีปัญหาการส่งมอบล่าช้าเริ่มทำการส่งมอบได้ต่อเนื่องนอกจากนี้มีการแข่งขันทางด้านราคาทำให้ รถยนต์ไฟฟ้ายังคงยืนราคาเท่ากับราคาขายปลีกต้นปีหรือต่ำกว่าซึ่งเป็นราคาที่จูงใจ ในขณะที่การแข่งขันทางด้านราคาที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อในภาระเศรษฐกิจเช่นนี้ มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าจะยังคงใช้กลยุทธ์"ราคาต่ำ"เพื่อแข่งขันกันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
"รถยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปี มีช่วงเวลาของฤดูการขายยาวนานกว่าครึ่งปีแรก ประกอบกับมีรถยนต์แบรนด์ใหม่จากจีนทะยอยเปิดตลาดอีกหลายราย โมเมนตั้มของรถยนต์ไฟฟ้ายังคงมีอยู่ โดยตลาดกว่า 40% ของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในมือของ BYD หมายความว่า ในครึ่งปีหลังความเป็นไปของตลาดขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ การลดราคาของ BYD ที่นำมาใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด"
**ที่มา:กรมการขนส่งทางบก ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ไม่รวมรถบรรทุก6ล้อขึ้นไป รถบัส และรถสามล้อรับจ้าง