กระแสของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นกระแสที่จุดติดจาก 2 ขั้วมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่เปิดหัวด้วยแบรนด์ TESLA ฝั่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ช่องพลิกสถานการณ์จากอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปที่ตามหลัง ขยับขึ้นมาเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า จะเห็นว่าทั้งสองประเทศมีประชากรรวมกันมากกว่า 1.7 พันล้านคน มีพื้นที่รวมกันสองประเทศมากกว่า 19 ล้านตารางกิโลเมตร ถ้านึกไม่ออก เทียบกับประเทศไทยก็ได้ครับ (ไทยมีประชากรประมาณ 71 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 5 แสนตารางกิโลเมตร) ตัวเลขประชากรและพื้นที่ของ 2 ประเทศนี้อยู่ในระดับเบอร์ต้นของโลก ส่งผลต่อพื้นที่เศรษฐกิจที่ใหญ่มากตามไปด้วย
การที่ TESLA จุดกระแสรถยนต์ไฟฟ้าติดในอเมริกา การจุดกระแสติดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องมีสัดส่วนการขายในช่วงต้นทีเยอะมากนักในสหรัฐฯ แต่กระแสที่จุดติดนั้น นำไปสู่การมองเห็นช่องทางในการขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น เมื่อ TESLA ตัดสินใจเข้าไปตั้งโรงงานการผลิตในประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ทำให้แบรนด์รถยนต์ TESLA เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะจีนมีทรัพยากรทั้งทางด้านแรงงานมนุษย์และด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาที่ตอบโจทย์ สิ่งสำคัญ..จีนยังมีจำนวนประชากรมากพอที่ TESLA จะสร้างยอดขายได้มากขึ้นแบบทวีคูณ ส่งให้รถยนต์ไฟฟ้าเทสลาสามารถเจาะตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะสองประเทศมหาอำนาจที่มีประชากรมหาศาลอย่างอเมริกาและจีน
สองประเทศนี้มีประชากรมากขนาดนี้ จึงเป็นพื้นที่สร้างยอดขายให้กับแบรนด์รถยนต์ทั่วโลกรวมถึงฝั่งแบรนด์รถยนต์จากยุโรป เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นด้วย เมื่อกระแสจุดติด สัดส่วนเปอร์เซ็นการเติบโตตัวเลขมันขย่มคู่แข่งยานยนต์ทุกค่าย บวกกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระทั่วโลกให้อุตสาหกรรมต่างๆต้องตระหนัก มีเกณฑ์กำหนดทางการค้าให้ต้องปฏิบัติตามมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายลดมลพิษของฝั่งยุโรป ซึ่งในสถานการณ์ปกติของการขายรถยนต์สันดาป รถยนต์แบรนด์ยุโรปก็มีปริมาณการขายแพ้ฝั่งญี่ปุ่นกับอเมริกาอยู่แล้ว และรถยุโรปเองก็มีลูกค้าอยู่ในประเทศจีนค่อนข้างเยอะ หากไม่ปรับตัวตามกระแสที่เกิดขึ้น ความเสี่ยงก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย เพราะเมื่อเทสลาเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน จีนเองก็เห็นช่องทางเช่นกันในการที่จะปรับตัวก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ส่งให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านยานยนต์ของโลกได้อย่างฉับพลัน นโยบายจากรัฐบาลจีนจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ พร้อมนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนก็เริ่มต้นขึ้น ช่วยให้บริษัทรถยนต์สัญชาติจีนที่มีอยู่เต็มไปหมด มียอดขายที่ดีขึ้น และแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนอย่าง SAIC และ BYD ก็ไม่พลาดที่จะจับทิศทางกระแสที่เกิดขึ้นได้ว่า นี่จะเป็นช่องทางที่ทำให้เขาสามารถออกไปเปิดตลาดโลกนอกประเทศจีนได้ง่ายขึ้น
การมาของ TESLA ส่งผลต่อผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่ร่วมชาติอย่าง FORD และ GM เช่นกัน และนำมาซึ่งการพัฒนาโปรดักส์ออกมาแข่งขันกับเทสลาไม่ว่าจะเป็น FORD Mustang Mach-e หรือแม้แต่กระบะฟูลไซส์ F-150 Lightning ทางฝั่ง GM ก็มี Chevrolet Bolt EV, Equinox EV และกระบะไฟฟ้า Silverado EV เป็นต้น กระแส+การแข่งขัน ส่งให้อเมริกาเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน และยังเป็นการแข่งขันระหว่างขั่วอำนาจฝั่่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกอีกด้วย มันจึงมีผลต่อทิศทางของยานยนต์โลกอย่างเลี่ยงไม่ได้
เมื่อตัวเลขรถยนต์ไฟฟ้าจาก TESLA กับ BYD เติบโตขึ้น บวกกับแบรนด์จีนอื่นๆก็หันมาขายรถยนต์ไฟฟ้าจนมีตัวเลขสะสมของรถยนต์ไฟฟ้ามากพอที่จะทำให้แบรนด์รถยนต์จากฝั่งยุโรปประกาศวาระการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน ประเทศไทยที่จับตาการดูกระแสที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดมานานแล้ว และมีการวางแผนรองรับเพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้ต้องเปลี่ยนศูนย์กลางจากประเทศไทยไปเป็นประเทศอื่น สำหรับประเทศที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า 10% และมีอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 550,000-750,00 คน การจูงใจให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตัดสินใจลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากไทยเหลือแต่อุตสาหกรรมรถยนต์น้ำมัน เราจะมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และอาจมีภาวะการลงทุนที่ขาดช่วง และไม่สามารถขยายอัตราการจ้างงานในประเทศให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การขยับตัวรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้เราสามารถขยายขนาดของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น แต่จุดอ่อนของไทย อยู่ที่ทรัพยากรที่จะนำมาผลิตแบตเตอรี่ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญที่พยายามดึงนักลงทุนไปยังประเทศของเขาเช่นกัน แล้วไทยจะต้องจูงใจค่ายรถยนต์ต่างชาติอย่างไร..?
โจทย์เดียวที่ภาครัฐต้องทำก็คือ การกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้มีอัตราการเติบโตสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน เพราะลำพังนโยบายส่งเสริมการลงทุนอย่างเดียวที่มีอยู่หลายมาตรการมันไม่เพียงพอ ประชากรของรถยนต์ไฟฟ้า EV เท่านั้นที่จะทำให้ค่ายรถต่างๆตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิต เพราะสามารถสร้างยอดขายในประเทศไทยได้ ไม่ใช่แค่มาลงทุนเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว ต่างชาติต้องการยอดขายในประเทศจากไทยเราด้วย เหตุผลหลักจึงเป็นเรื่องของการรักษาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลกต่อไป และไม่ใช่ว่าไทยต้องการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม หรือเตรียมเลิกอุตสาหกรรมรถยนต์น้ำมัน แต่ไทยต้องการให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พูดง่ายๆ เราจะเป็นศูนย์กลางทั้งการผลิตรถยนต์เชื่อเพลิงเบนซิน ดีเซล (ICE) ไฮบริด(HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฟฟ้า 100% (ฺBEV) คือจะเอาทุกอย่าง เพราะถึงอย่างไรรถยนต์สันดาปก็ยังมียอดการส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกกลาง, ออสเตรเลีย, เอเชียตะวันออก และยุโรป โดยมีโปรดักส์สำคัญอย่าง รถปิ๊กอัพ ที่มียักษ์ใหญ่อย่าง TOYOTA FORD MITSUBISHI NISSAN และ ISUZU การมีผู้ลงทุนใหม่เข้ามา จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น
แล้วภาครัฐของไทยกระตุ้นการใช้รถไฟฟ้าในประเทศได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ในวันนี้..? คำตอบคือ ปัจจุบันไทยมีตัวเลขจดทะเบียนสะสมของรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) มากกว่า 16,000 คันไปแล้ว ขณะที่ค่ายรถยนต์ต่างชาติไม่ได้มองเพียงรถยนต์ไฟฟ้า BEV เท่านั้น แต่ยังรวมถึงยอดสะสมของรถยนต์ไฮบริด (HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ซึ่งในไทยมียอดจดทะเบียนสะสมรวมสูงถึงกว่า 300,000 คัน ส่งผลให้เรามีตัวเลขรวมของกลุ่มรถยนต์ EV สูงเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชียรองจากจีน นอกจากนี้เราคงได้อ่านข่าวหรือได้ยินว่าค่ายรถยนต์จากประเทศจีนประกาศการลงทุนในประเทศไทยหลายแบรนด์ใช่หรือไม่..? เริ่มตั้่งแต่ SAIC มาก่อนเพื่อนในนาม MG ล่าสุดกับการเพิ่มการลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในไทย, GWM กับการซื้อโรงงาน GM วางไทยเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวา, BYD กับการประกาศลงทุนในไทยกว่า 17,000 ล้านบาท และ CHANGAN ที่ประกาศการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกว่า 9,800 ล้านบาท นี่แค่บางส่วนครับ เพราะยังมี FORD จากอเมริกาที่มีการเพิ่มการลงทุน 28,000 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงโรงงานเมื่อปี 2021 เป็นต้น
ขณะที่ฝั่งญี่ปุ่นก็มีความชัดเจนขึ้นว่าจะปักหลักอยู่ในไทยต่อ จากท่าทีของพี่ใหญ่อย่าง TOYOTA จัดงานฉลองครบรอบ 60 ปีในไทยอย่างยิ่งใหญ่ ขณะที่ MITSUBISHI ก็เดินหน้าแผนการพัฒนารถกระบะรุ่นใหม่เตรียมเปิดตัวในไทยในอีกไม่กี่เดือนนี้ และยังมีการประกาศลงทุนเพิ่มในไทยเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง HEV PHEV และ BEV วงเงิน 20,000 ล้านบาทเมื่อปี 2562 ด้าน NISSAN ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพียงหนึ่งเดียวในอาเซียนหลังยุบโรงงานผลิตที่อินโดนีเซีย และลงทุนเพิ่มไปก่อนหน้านี้แล้ว
แผนที่ภาครัฐจะรักษาให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ณ วันนี้ ชัดเจนว่าเดินไปได้ตามแผน อนาคตก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่วันนี้ถือว่าตามเป้า และไทยก็คงไม่ได้หวังว่า ประเทศจะต้องมีแต่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในเร็ววันอย่างที่คนไทยบางกลุ่มอยากให้เป็น เพราะไทยวางเป้าให้ประเทศมีประชากรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในสัดส่วน 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิต เฉลี่ยขายในประเทศรวมทุกค่ายอย่างน้อยประมาณ 300,000 คัน และส่งออกอีกอย่างน้อย 300,000 คันภายในปี 2030 สัดส่วนตรงนี้คาดว่ารวมทุกประเภทของ EV ไม่ว่าจะเป็น HEV, PHEV และ BEV
คือการจะเป็นประเทศที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV กันทั้งประเทศ ไม่ใช่การมีจุดชาร์จเยอะ ไม่ใช่การที่แบตเตอรี่ชาร์จได้เร็วขึ้น แต่มันคือการลดจำนวนการใช้รถส่วนบุคคลด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพรองรับการเดินทางให้กับประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ เมื่อคนใช้รถเดินทางไกลน้อยลงเพราะมีระบบขนส่งมวลชนที่รองรับได้ดี รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกซื้อไปใช้เพื่อการเดินทางที่จำเป็นจริงๆและมีระยะทางชัดเจน
ฉะนั้น..การรักษาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ต่อไป คือเหตุผลหลักด้านเศรษฐกิจครับ ส่วนเหตุผลรอง เช่น การรักษ์โลก ลดฝุ่น PM นับว่าไม่ใช่เป้าหมายหลัก กรณีฝุ่น จริงๆแล้วฝุ่นกว่า 80% ที่เกิดขึ้นมาจากการเผาทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ แม้จะเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ก็มีมาตรฐาน EURO4 รองรับ และกำลังจะขยับเป็น EURO5 ในปี 2567 ที่เป็นปัญหาน่าจะเป็นรถซิ่งควันดำมากกว่า ด้านการลดคาร์บอน อันนี้ก็เป็นเหตุผลรองที่มีน้ำหนัก เพราะในภาพรวม หากไทยมีค่ามลพิษน้อยลงจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไปยังนานาประเทศที่ปัจจุบันมีมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าที่มีการปนเปื้อน
ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า กระแสตลาดมีผลต่อการพัฒนาประเทศทุกประเทศ อยู่ที่การบริหารบ้านเมืองว่าแต่ละประเทศจะวางตัวเองไว้ตรงจุดใดของโลก หรือแม้แต่คำว่า หรือเราต้องการเติบโตแบบไหน และผลที่ออกมา เป็นไปตามแผนหรือไม่ หรือผลลัพธ์ที่ออกมาส่งผลดีหรือร้ายต่อประเทศเราอย่างไร..? ยังไงเราก็ต้องเดินไปข้างหน้าครับ
บทความโดย: ตระกูล ลินทมิตร