ผมมีปฎิสัมพันธ์กับแบรนด์อีซูซุในฐานะคนใช้น้อยมาก แทบบอกไม่ได้เลยเกี่ยวกับความทรงจำกับอีซูซุ เพราะรถที่บ้านสมัยเด็กๆนั้นมี 3 ยี่ห้อ คือ Mazda B2500 Mitsubishi Aero Body และก็ Toyota Hilux SR5 แต่ผมจำหน้าตาของเจ้า KB20 ได้ดี มันคือรถของลุงข้างบ้าน ทุกวันนี้มันก็ยังอยู่วันดีคืนดีก็เห็นออกมาวิ่ง แม้เสียงจะดังโครมครามไปหน่อย ส่วนการทำงานในฐานะสื่อ ผมทำข่าวอีซูซุครั้งแรกเมื่อไรก็จำไม่ได้อีก เพราะตอนนั้นน่าจะเป็นนักข่าวสยามรัฐ ประจำกระทรวงพาณิชย์ ทำข่าวสายเศรษฐกิจ ก่อนมาคุ้นเคยกับผู้บริหารช่วงนั้นก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพธุรกิจแล้ว และยังทันสงครามระหว่างไดเร็คอินเจ็คชั่นกับสเวิร์ลแชมเบอร์ได้ดี ช่วงอีซูซุหันไปบุกกระบะ 4x4 ครั้งแรกปี 2535 ในฐานะกระบะแบรนด์แรกที่แนะนำรถปิกอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ผลิตในเมืองไทยในนาม “อีซูซุโรดีโอ โฟร์วีลไดรฟ์” พร้อมการเปิดสนามรถขับเคลื่อนสี่ล้ออีซูซุ ตั้งอยู่เยื้องๆสนามพีระเซอร์กิจ พัทยา จ.ชลบุรี สนามนี้กลายเป็นที่ฝึกฝีมือของพวกเราชาวเปื้อนโคลน (ปัจจุบันหมดสัญญา อีซูซุไปตั้งสนามใหม่ที่ปทุมธานี)
อีซูซุ โรดีโอ ทำช่วงล่างมาดีเรียกว่า ออสซี่ ซัสเพนชั่น และอีซูซุก็จัดคาราวานทดสอบรถจากกรุงเทพ มุกดาหาร สวรรณเขต ลาวบาว, เว้, ดานัง สิ้นสุดที่เมืองโบราณฮอยอัน ยุคนั้นเป็นปฐมบทความโหดหินของการเป็นนักขับรถแบบคาราวานข้ามประเทศ เส้นทางส่วนใหญ่ คือเส้นทางลากไม้เพื่อส่งออกทางดานัง หลุมเท่าปลักควาย ผมควบอีซูซุ โรดีโอ วิ่ง 3 หลุมรวบเป็นหลุมเดียว เพื่อลดแรงกระแทก ตอนนั้นคิดว่าช่วงล่างโรดีโอ น่าจะพังบ้างละ แต่สุดท้าย มันยังอยู่ดี ไม่เสียหาย
ประสบการณ์อีกช่วงหนึ่งที่ได้คลุกคลีวงในของอีซูซุ คือการได้เดินทางร่วมทริปกับอีซูซุทุกๆปี เรียกว่า Media Owner ทริป หรือการที่ผู้บริหารระดับสูงของตรีเพชรฯเดินทางไปดูงานในต่างประเทศร่วมกับ ผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของสื่อ แต่สื่อที่เจ้าของเขาไม่ไปด้วยตัวเอง อย่าง เนชั่น, บางกอกโพสต์ ทริปหรูวีไอพี จึงตกมายังนักข่าวเล็กๆ อย่างพวกผม 3 คน เลยได้ซึมซับวิธีคิดของคนอีซูซุ จาการไปร่วมเดินทาง งานบางอย่างไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปได้เห็นง่ายๆ ผมนั้นร่วมคณะไปกับประธานตรีเพชรฯ หลายคนหลายยุคหลายสมัย ภาพพจน์ของอีซูซุเมืองไทยผูกติดอยู่กับความเป็นไปของบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลซ์ จำกัดมากกว่า อีซูซุ มอเตอร์ ทำให้ภาพของ อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย)ไม่ปรากฏในวงกว้าง การสื่อสารแบรนด์ส่วนใหญ่ผ่านตรีเพชรฯ สื่อหลายคนไม่เคยสัมผัส ตัวประธานกรรมการบริหาร หรือกรรมการผู้จัดการ บ.อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) แต่รู้จักคุณหมู ปนัดดาหรือ คุณวิชัย ซึ่งจริงๆแล้ว ผู้บริหารของตรีเพชรฯเหล่านี้ เขาไม่ได้เป็นคนของอีซูซุแต่คือคนของมิตซูบิชิ คอปอเรชั่นฯ ซึ่งบริษัท มิตซูบิชิ คอปอเรชั่น เป็นบริษัทเทรดดิ้งที่ใหญ่ระดับโลกมีธุรกิจในเครือมากมาย ทั้งรถ เรือขนส่ง เครื่องจักรไฟฟ้า คอนซูมเมอร์โปรดักซ์ การเงินฯลฯ อีซูซุเข้าสู่ตลาดไทยได้ก็ด้วยการนำพาของ มิตซูบิชิ คอปอเรชั่น ซึ่งมิตซูคอปฯเริ่มนำรถบรรทุกอีซูซุคันแรก เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในปี 2500 จำหน่ายภายใต้ บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้แทนในประเทศไทยของบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาปี 2506 บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความร่วมมือด้านเทคนิคจากบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศญี่ปุ่น) ประกอบรถอีซูซุ คันแรกขึ้นในประเทศไทยธุรกิจนั้นเริ่มต้นด้วยรถบรรทุก ก่อนขยายเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก และรถปิ๊กอัพ คันแรกผลิตปี 1974 นับจากวันแรกที่ขายรถในไทย จนถึงวันนี้ก็ราว 66 ปีพอดี ในวงการค้าระดับนานาชาติ รู้กันดีว่ามิตซูบิชิ คอปอเรชั่น อาณาจักรแห่งนี้ เป็นที่รวมของขุนศึกนักขายและนักการตลาดชั้นนำระดับโลก ใครมาจากมิตซูบิชิคอปฯ หรือสังกัดที่นี่ถือเป็นเซียนมือขั้นเทพของวงการ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม อีซูซุ รถยนต์แบรนด์เล็กๆ ที่มีจุดด้อยในแง่ของขีดความสามารถในการแข่งขัน ยังสามารถผงาดท้าชนและเหยียบจมูกยักษ์ใหญ่โตโยต้า หรือนิสสันได้ในเมืองไทย
สำหรับตรีเพชรฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2517 ชื่อบริษัทมีความหมายดังนี้ ตรี แปลว่า 3 ส่วน เพชร นั้นตรงตัว ให้ไปดูโลโก้ของมิตซูบิชิ คอป หรืออะไรที่เกี่ยวกับมิตซูบิชิเขาจะเรียกว่าทรีไดมอนด์ คือการนำเอา เพชร 3 ชิ้นมาประกอบกัน เครือข่ายธุรกิจอีซูซุ
ในบรรทัดจากนี้ไป ผมอิงกับบริษัทตรีเพชร อีซูซุ เซลส์ เพราะลำพัง อีซูซุ มอเตอร์ คงไม่มีอะไรให้กล่าวถึงมากนัก เขาทำหน้าที่ผลิตรถยนต์ที่ดีที่สุดเท่านั้นฯ ตรีเพชรคือ หน่วยธุรกิจของ มิตซูบิชิ คอปฯ ดังนั้นหน้าที่ของตรีเพชรฯ ไม่ได้มีแค่จำหน่ายรถยนต์ แต่ตรีเพชรยังต้องทำธุรกิจอื่นๆด้วย ตามหน่วยธุรกิจล่าสุด ตรีเพชรมีเครือข่ายต่างๆ เช่น ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์, ธุรกิจพัฒนาซอฟแวร์, ธุรกิจบริการด้านเทคนิค ในชื่อออโต้เทคนิค บางยุคก็เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นั่ง ซาบ จากสวีเดน หรือ ธุรกิจใหม่ล่าสุดอย่าง Truck2Hand.com ตลาดซื้อ-ขายรถบรรทุกมือสองออนไลน์ และธุรกิจมือสองโอมากาเสะ และยังมีธุรกิจบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงมากมาย ทุกคนในวงการรถยนต์รวมถึงสื่อต่างรู้ดีว่า ในบรรดาค่ายรถที่มีภาพพจน์แข็งแกร่งที่สุด คือ อีซูซุ แต่น้อยคนจะรู้ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าก่อนที่อีซูซุจะมายืนแถวหน้า ก่อนจะมีวันนี้ให้สื่อเขียนอวยกัน อีซูซุเดินผ่านเส้นทางดอกไม้และก้อนอิฐอะไรมาบ้าง แบรนด์เล็กๆในโลกแต่ยิ่งใหญ่ในไทย มีความท้าทายที่น่าสนใจมากมายครับ...
บทความโดย: ยุทธพงษ์ ภาษี