ความสำเร็จของอีซูซุไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะอดีตนั้น อีซูซุยังไม่สามารถแข่งขันได้กับ โตโยต้า หรือนิสสัน ยอดขายที่น้อยกว่า ไม่ใช่ปัจจัยเรื่องของการตลาดหรือสินค้าแค่เป็นเรื่องความพร้อมในการผลิตเพราะ ขณะที่ตลาดมีความต้องการมาก แต่อีซูซูตัดสินใจขยายโรงงานช้า ข้อจำกัดทางด้านปริมาณการผลิตนี้เองทำให้ยุคแรกๆนี้เอง อีซูซุจึงต้องหันไปเล่นกลยุทธ์ "ไม่แถมไม่แจก" (Scarcity Strategy) อย่างที่เขียนไปเมื่อตอนที่แล้ว ในช่วงนั้นคนในบอกกับผมว่า หลังจากที่อีซูซุทำโรงงานเสร็จ อีซูซุจะเป็นแชมป์กระบะ นับจากมังกรทองมาเป็นรถระดับโลกด้วยการป้ายยาแฟนคลับ ด้วยรหัส I-190 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อดีแมคซ์ ในปี 2020 ผมไปย้อนหลังกลับไปพิจารณาดู แชมป์กระบะก็เป็นไปตามนั้น
การแข่งขันในตลาดยุคดั้งเดิมนั้น รถกระบะแข่งกันด้วยเรื่องเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลักเครื่องยนต์ดีเซลที่วางขายอยู่ แตกต่างกัน 2 ระบบเผาไหม้ คือมีเครื่องยนต์ดีเซลไดเร็คอินเจ็คชั่นหรือระบบเผาไหม้โดยตรงกับแบบจ่ายน้ำมันแบบอินไดเร็คอินเจ็คชั่น มีเพียงอีซูซุเจ้าเดียวที่ใช้ระบบเผาไหม้แบบฉีดตรงหรือไดเร็ค อินเจ็คชั่น ข้อดี-ข้อด้อยของเครื่องยนต์ดีเซล 2 ระบบนั้นชัดเจน การสร้างการยอมรับในเครื่องยนต์ดีเซลอย่าลืมว่า อีซูซุ คือผู้เปลี่ยนแปลงวงการ ด้วยการเป็นค่ายแรกที่เปลี่ยนเอาระบบดีเซลมาใช้แทนเบนซินจนค่ายอื่นๆใช้ดีเซลตามอีซูซุ เป็นเจ้าแรกที่นำระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง แบบไดเร็คอินเจ็คชั่นมาใช้ พร้อมทั้งโฆษณาว่าเป็นเจ้าแรกที่มีเครื่องยนต์แรงถึง 90 แรงม้า
อีซูซุ แบ่งปันเครื่องยนต์ดีเซลของตัวเองให้แก่ ฟอร์ด และมาสด้าในเมืองไทยด้วยทำให้ทั้งฟอร์ดและมาสด้ามีระบบจ่ายเชื้อเพลิงเช่นเดียวกับอีซูซุ ตลาดรถยนต์ปิกอัพในเมืองไทยยุคนั้นจึงแบ่งแยกกันชัดเจน โดยมีอีซูซุในฐานะต้นตำรับเครื่องยนต์แบบไดเร็คอินเจ็คชั่นเปิดประเด็นจุดเด่นด้านความประหยัดและกลายเป็นภาพจำจุดแข็งของอีซูซุต่อมา โดยตอกย้ำ ซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยกลยุทธ์การตลาด IMC
หลายคนแซะเครื่องยนต์แบบไดเร็ค อินเจ็คชั่นของอีซูซุว่า "เงียบพัง ดังวิ่ง" เพราะระบบเครื่องยนต์ดีเซลไดเร็คอินเจ็คชั่น หรือระบบเผาไหม้โดยตรง ข้อดีคือการประหยัดน้ำมันกำลังแรง แต่ด้อยคือ เสียงดัง มีการสั่นสะเทือนสูง และการปล่อยมลพิษก็สูงแต่อีซูซุก็ยึดมั่นในแนวทางของตัวเอง อย่าลืมว่า อีซูซุคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ในปี 2521 ว่า อีซูซุเป็นค่ายรถแรกของไทย ที่แนะนำรถปิกอัพที่วางเครื่องยนต์ดีเซลโดยนำเอาเครื่องยนต์ดีเซล จากรถบรรทุก ELF ขนาดความจุ 1,600 ซีซี. ใส่ลงไปในรถปิกอัพ นับจากที่อีซูซุส่งรถที่ใช้เครื่องไดเร็คฯมาทำตลาดได้ไม่นานบวกกับการเพิ่มปริมาณการผลิตของโรงงาน อีซูซุก็ยึดยอดการจำหน่ายรถยนต์ปิกอัพในตลาดเมืองไทยไว้ได้
ทุกวันนี้ระบบการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซลพัฒนาไปมากแต่โครงสร้างเครื่องยนต์ดีเซลของรถกระบะดีเซลทุกค่ายสุดท้ายมาจบที่ ดีเซลไดเร็คอินเจ็คชั่นแบบอีซูซุแม้จะมีการพัฒนาหัวฉีดแรงดันสูงพร้อมติดตั้งระบบอัดอากาศที่ก้าวหน้า
อีซูซุเป็นค่ายเดียวที่ยืนหยัดระบบนี้มาตลอดแสดงให้เห็นมุมมองของอีซูซุต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่อ่านเกมไว้แล้วอย่างถูกต้องอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการพึ่งพาเครื่องยนต์ดีเซลกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า BEV เจ้าตลาดผู้เติบโตและสร้างความน่าเชื่อถือด้วยเครื่องยนต์ดีเซลมาตลอดชีวิตอย่างอีซูซุต้องหาทางรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน และเป็นที่มาของการปรากฎตัวของอีซูซุ D-MAX EV รถกระบะไฟฟ้าต้นแบบคันแรกของของอีซูซุ ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2024
บทความโดย: ยุทธพงษ์ ภาษี