วินฟาสต์ (Vinfast) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าค่ายเดียวของ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญหน้าความท้าทายอย่างสุดขั้ว หลังจากปูฐานเตรียมทำตลาดในไทยก่อนตัดสินใจดีเลย์งานใหญ่เปิดแบรนด์ปลายปี ซึ่งการเปิดตลาดประเทศไทยของรถยนต์เวียนตนนาม ต้องเผชิญการแข่งขันทางด้านราคาอย่างรุนแรงจากรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน
แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์ เปิดเผยกับ Massautocar ว่า วินฟาสต์ ได้ตัดสินใจดีเลย์แผนการทำตลาดโดยรายงานล่าสุดจากแหล่งข่าวจากวงการรถยนต์บอกกับเราว่า วินฟาสต์ เลื่อนการออกงานแสดงรถยนต์ปลายปีซึ่งเป็นงานที่สำคัญของวงการรถยนต์ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานต่อในไทยมีอนาคตที่ไม่แน่นอน แม้จะยังไม่มีการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการพอจะประเมินได้ว่าค่ายรถยนต์สัญชาติเวียดนามอย่างวินฟาสต์ มีโอกาสสูงที่จะพับแผนธุรกิจในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาวินฟาสต์ ได้เริ่มปูทางการเข้าทำตลาดนับตั้งแต่การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ในแบรนด์โดยผ่านแผนการประชาสัมพันธ์ของเอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างค่าย โอกิลวี่และก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวบริษัทและพาสื่อมวลชนไทยไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตที่เวียดนาม
การปูทางสู่ไทยแลนด์นั้นเป็นไปตามขั้นตอนการเข้าสู่ตลาดอย่างมีระบบการใช้ตัวแทนประสานงานสร้างภาพลักษ์ระดับโลกแสดงถึงความตั้งใจของวินฟาสต์ต่อตลาดเมืองไทยและวินฟาสต์เลือกมืออาชีพเพื่อให้เกิด ความแตกต่างจากแบรนด์ รถค่ายใหม่โดยเฉพาะรถยนต์จากจีน ซึ่งมักใช้กลยุทธ์เข้าตลาดแบบเรียบง่าย ประหยัดต้นทุนซึ่งเป็นกลยุทธ์เปิดแบรนด์ที่ไม่ซับซ้อนแต่อาศัยช่วงที่ตลาดให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ที่นำเสนอ
"กลยุทธ์ของวินฟาสต์ค่อนข้างดีในแง่การสร้างสรรค์แบรนด์แต่ ค่ายจีนลุยหนักแบบขายยกเข่ง การตลาดที่เกิดผิดพลาดก็แก้ไขกันกลางเวทีแบบไม่เกรงว่าจะเสียแบรนด์แต่รถจีนกลับขายได้ เพราะค่ายรถจีนได้เปรียบในเรื่องต้นทุน โดยเฉพาะการผลิตจำนวนมากรวมถึงการใช้กลยุทธ์"ขาดทุนกำไร"เพื่อเปิดตลาด โดยเน้นการสร้างประชากรรถบนนถนนเพื่อให้ คนเห็นบ่อยทำให้การขายรถคันทีสองและสามง่ายขึ้น สำหรับการยอมรับแบรนด์จีนไม่เน้นเรื่องภาพลักษณ์ มากนักแม้แต่โชว์รูมต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นโชว์รูมชั่วคราวและมีรูปแบบยังไม่สมบูรณ์มาก ในขณะที่วินฟาสต์ แม้ชื่อจะเป็นรถที่แทบไม่มีใครรู้จัก แต่ก็พยายามแทรกภาพพจน์ของประเทศแม่อย่างเวียตนาม โดยหวังว่าจะแข็งแกร่งเท่ากับจีน"
วิเคราะห์จุดอ่อนแบรนด์
จุดอ่อนของวินฟาสต์ ในการแข่งขันในระดับโลกและในไทยนั้นค่อนข้างชัดเจนมากในแง่ของความเสียเปรียบ ได้แก่
1.ภาพพจน์นำด้านเทคโนโลยี
วินฟาสต์ เป็นรถมาจากเวียตนาม แต่ประเทศเวียตนามยังมีภาพลักษณ์ของประเทศเป็นผู้ใช้มากกว่าผู้พัฒนาเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากรถที่วินฟาสต์พัฒนาขึ้นเกิดจากการจัดหา เทคโนโลยีมาเพื่อประกอบรถ แนวคิดเดียวกับการประกอบรถยุคกลางที่แจ้งเกิดแบรนด์ด้วยการประกอบเทคโนโลยีที่จัดหามา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไทยมีภาพพจน์ที่ดีกว่าในแง่อุตสาหกรรมรถยนต์ การพัฒนารถยนต์สมัยใหม่ในตลาดปัจจุบันแม้มีรถยนต์หลายยี่ห้อพัฒนาแบรนด์ภายใต้แนวคิดการจัดหานี้ แต่แบรนด์เหล่านั้นมาจากประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือ มีพื้นฐานที่เข้มแข็งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น จีนมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ดีที่สุด ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งในด้านภาพพจน์สินค้ามากกว่า
2.ต้นทุน
วินฟาสต์ต้องดิวกับซัพพลายเออร์เกือบทั้งหมด ตัวเองไม่ได้มีเทคโนโลยีต้นทุนย่อมควบคุมได้ยากและหากจะได้สิ่งล้ำสมัยซึ่งจำเป็นทุกครั้งสำหรับการเปลี่ยนรุ่น วินฟาสต์ต้องจ่ายเพิ่ม มิฉะนั้นเทคโนโลยีที่ได้รับ คงไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด จังเห็นได้ชัดว่า"ราคารถ"ของวินฟาสต์สูงกว่าราคารถจากจีนและออฟชั่นใหม่ๆ ก็สู้แม้แต่รถราคาถูกๆ จากจีนไม่ได้ทั้งหมดคือกับดักต้นทุน
3.หน้าตา
หน้าตา"ของวินฟาสต์ ดูเหมือนตกยุคไปหนึ่งเจนเนอเรชั่นเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าในยุคเดียวกัน และในช่วงที่รถยังไม่ทันได้เปิดตลาดบางโมเดล กลับเข้าไทม์โซนที่ได้เวลาเปลี่ยนโฉม หากต้องการออกแบบรถใหม่ หน้าตาใหม่"คือ ต้นทุนที่ต้องจ่ายเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแต่ละครั้งนอกจาก ค่าพัฒนารถ เครื่องมือประกอบรถ ต้องซื้อใหม่ให้สอดคล้องกับวิศวกรรมสมัยของรถ "การที่วินฟาสต์เริ่มต้นในตลาดหลายๆ แห่งแต่ยังทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมาย ที่วางไว้ การเปลี่ยน Look ของหน้าตาต้องเลื่อนออกไป ยิ่งปรับเปลี่ยนช้า ยิ่งขายน้อย"
4.แบรนด์เกิดใหม่ยังไม่แข็งพอ
สำหรับวินฟาสต์ (VinFast) เป็นบริษัทในเครือของวินกรุ๊ป ( Vingroup) ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 หรือเมื่อ8ปีที่แล้ว และเริ่มพัฒนารถจริงจังในปี2019 หรือเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาโดยมีโรงงานผลิตรถยนต์ที่พร้อมรองรับการผลิตที่ซับซ้อนหลากหลายขนาดได้ ซึ่งใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติสูงถึง 90% โรงงานตั้งอยู่ที่เมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนาม การที่วินฟาสต์เพิ่งเริ่มสร้างชื่อเพียง 6 ปี ถือว่าใหม่มากสำหรับ อุตสาหกรรมยานยนต์ในขณะที่อุตสาหกรรมรถทั่วโลกกำลังเปลี่ยนถ่ายดังนั้น แบรนด์ที่ไม่แข็งแกร่งจึงไม่สามารถทนทานต่อแรงเสียดทานจากแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ๆ จากจีนที่ออกสู่ตลาดทุกวัน ขนาดแบรนด์ใหญ่ๆของญี่ปุ่นยังลำบาก แบรนด์ใหม่ยิ่งยากกว่าแน่นอน
ก่อนหน้านี้วินฟาสต์พยายามสร้างการรับรู้ในไทยเช่น สื่อสารเรื่องการสร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่ครอบคลุมในประเทศไทย โดยวางแผนเปิดโชว์รูมประมาณ 30 แห่งภายในปี 2567 นี้ เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากนั้นจะขยายไปทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังเตรียมบริการจัดส่งอะไหล่ด่วน โดยจัดส่งในกรุงเทพฯ ภายใน 24 ชั่วโมง และจัดส่งในพื้นที่อื่น ๆ ภายใน 3 วัน และวินฟาสต์ได้ว่าจ้าง คิม ยูจอง ซูเปอร์สตาร์ของเอเชียชาวเกาหลีใต้ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของรถรุ่น VF 5 แต่ทุกอย่างดูไม่ค่อยมีกระแสตอบรับ
5.หลุดเป้าหมายไทม์ไลน์
วินฟาสต์นั้นเคลื่อนไหวไม่ทันตลาดไทย เพราะ การแข่งขันที่รุนแรง เดิมนั้นวินฟาสต์กำหนดแผนเปิดตลาดไว้ดังนี้ รถที่จะออกจำหน่ายภายในไทยปี 2567 นี้ ประกอบด้วย รุ่น VF e34 ในเดือนมิถุนายน 2567 รุ่น VF 5 ในเดือนสิงหาคม หรือกันยายน 2567 และรุ่น VF 6 และ VF 7 ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่กำหนดมาเพื่อแข่งขันกับแบรนด์ EV ของจีนที่เริ่มติดตลาดประเทศไทย
เกรทวอลล์ลดราคายับ
ในขณะที่ตลาดรถยนต์ไทยยังคงอยู่ในสภาพอ่อนตัวทำให้ ค่ายรถต้องใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อลดสต็อคและรักษาส่วนแบ่งตลาดโดยก่อนหน้านี้ BYD จากจีนทำการลดราคาขายปลีกลง ประมาณ 20% ล่าสุด ค่าย เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผู้จำหน่ายรถเกรทวอลล์จากจีนประกาศลดราคาขายปลีกลงระหว่าง 10-22% สำหรับผู้ซื้อรถตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2567 ภายใต้ แคมเปญ “The GREAT DEAL โดยลดราคา GWM New ORA Good Cat ทั้ง 3 รุ่นย่อยและ GWM HAVAL H6 2 รุ่นย่อย GWM HAVAL JOLION 1 รุ่นย่อยรวมรถทั้งหมด 6 รุ่นย่อย โดยมีส่วนลดเงินสดระหว่าง 100,000-450,000 บาท ซึ่งสงครามราคานี้สร้างแรกกดดันอย่างมาก สำหรับผู้มาใหม่ในตลาดอย่างวินฟาสต์
ในขณะที่รายละเอียดการลดราคาล่าสุดของเกรทวอลล์มีดังนี้
ORA Good Cat รุ่น PRO จาก 799,000 บาท เหลือเพียง 629,000 บาท (ส่วนลด 170,000 บาท) หรือคิดเป็นส่วนลด 21.28%
ORA Good Cat รุ่น ULTRA จาก 899,000 บาท เหลือเพียง 729,000 บาท (ส่วนลด 170,000 บาท) หรือคิดเป็นส่วนลด 18.91%
ORA Good Cat รุ่น GT จาก 1,099,000 บาท เหลือเพียง 859,000 บาท (ส่วนลด 240,000 บาท) หรือคิดเป็นส่วนลด 21.84%
GWM HAVAL H6 Plug-in Hybrid SUV จาก 1,699,000 บาท เหลือ 1,249,000 บาท (ส่วนลด 450,000 บาท) หรือคิดเป็นส่วนลด 21.28%
GWM HAVAL H6 Hybrid SUV รุ่น ULTRA จาก 1,349,000 บาท เหลือ 1,099,000 บาท (ส่วนลด 250,000 บาท) หรือคิดเป็นส่วนลด 18.58%
GWM HAVAL JOLION Hybrid SUV รุ่น ULTRA จากราคา 999,000 บาท เหลือ 899,000 บาท (ส่วนลด 100,000 บาท) หรือคิดเป็นส่วนลด 10.01%
ทั้งนี้สงครามราคาในตลาดไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วินฟาสต์ดีเลย์แผนซึ่งในเอกสารของวินฟาสต์ที่เคยเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนที่เผยแพร่เมื่อ 2 สิงหาคม 2567 ให้ทัศนะในเรื่อง ผลกระทบของสงครามราคาในตลาดรถยนต์ไว้ด้วยโดยมีรายละเอียดดังนี้
เฉือนราคา ประโยชน์ของผู้บริโภคหรือเนื้อร้ายของแวดวงธุรกิจ?
สงครามราคาแม้จะดูเหมือนเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่า แต่มักจะปกปิดความสูญเสียบางอย่างไว้ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อผู้บริโภคในระยะยาว แม้ว่าผลิตภัณฑ์ลดราคามักมีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้ซื้อได้เสมอแต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมักจะพบว่าผลประโยชน์ที่ได้รับในระยะสั้นจะตามมาด้วยผลเสียในระยะยาวสำหรับผู้บริโภค การที่ผู้ผลิตพยายามลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้า ส่งผลให้อัตรากำไรลดลง จึงจำเป็นต้องตัดต้นทุนบางอย่างเพื่อความ อยู่รอด คุณภาพสินค้าอาจน้อยลง มาตรฐานการบริการลูกค้าอาจด้อยลง และมาตรฐานความปลอดภัยบางอย่าง อาจถูกมองข้าม ผลิตภัณฑ์ที่เคยน่าดึงดูดใจเนื่องจากราคาเข้าถึงได้ง่ายอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการเพราะคุณค่าลดน้อยถอยลง เมื่อผู้ผลิตต้องห้ำหั่นกันด้วยการกดราคาสินค้าให้ได้ต่ำที่สุด นวัตกรรมจะกลายเป็นส่วนเกิน งบประมาณการวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทางเทคโนโลยีจะถูกตัดออกเพื่อผลประโยชน์ในระยะสั้นด้านราคา ผลที่ตามมาคือ ผลิตภัณฑ์ ที่ขาดความล้ำหน้า และทางเลือกอันจำกัดภายใต้ภาวะสงครามราคา ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ผู้เล่นที่อ่อนแอกว่าอาจไม่สามารถไปต่อได้ ส่งผลให้อัตราการแข่งขันลดลง และในระยะยาวสินค้าอาจกลับมีราคาสูงขึ้นไปอีกและตลาดก็อาจจะหดตัวลงส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและอำนาจต่อรองน้อยลง