รายงานข่าวจาก เอบีเอ็ม คอนเนค ตัวแทนประชาสัมพันธ์ของฮอนด้า เปิดเผยข้อมูลใหม่แก่สื่อมวลชน โดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวภายในบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย โดยมีเนื้อหาที่ระบุว่า ฮอนด้าได้ปรับเปลี่ยนการผลิตและบทบาทของโรงงานฮอนด้าในประเทศไทย รายละเอียดดังนี้
เรื่อง การปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย
บริษัทฯ ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงการเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างการผลิตที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม "e:HEV series" ระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งสัดส่วนยอดขายมีการเติบโตขึ้นอย่างมากจาก (ผลประกอบการในปี 2565) 32% เป็น 70% (แผนในปี 2567) ในด้านธุรกิจ บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์ โดยต่อไปเราจะมีการปฏิรูปแต่ละโรงงานของเราเพื่อยกระดับโครงสร้าง ดังต่อไปนี้
โรงงานปราจีนบุรี:พัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ
โรงงานอยุธยา:พัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่เราได้มีการพัฒนาและสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี
เรามุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไปโดยเราดำเนินการจะผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสนับสนุนตลาดรถยนต์ในประเทศไทยรวมทั้งยังเป็นฐานการส่งออกทั่วโลกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยด้วย
จากข้อมูลของฮอนด้า สรุปได้่ว่า โรงงานอยุธยาหนึ่งใน2โรงงานของฮอนด้าจะหยุดการประกอบรถยนต์ฮอนด้าและใช้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วน กิจกรรมการผลิตของฮอนด้าในประเทศไทย จึงเหลือโรงงานที่มีการผลิตรถเพียง 1 แห่งทั้งนี้ ฮอนด้า ไม่ได้ให้รายละเอียดของการใช้กำลังการผลิตในโรงงานปราจีนบุรีว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดจากการย้ายกำลังการผลิต แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า การหยุดการผลิตของโรงงานอยุธยา สอดคล้องกับกำลังซื้อของตลาดไทยที่อ่อนตัวลงและยังสอดคล้องของท่าทีฝ่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยที่มอบแต้มต่อในด้านภาษีแก่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายรถจากประเทศจีน ทำให้สินค้าของรถญี่ปุ่นเกือบทุกเช็คเมนท์ เสียเปรียบทางด้านต้นทุน และเริ่มส่งผลกระทบอย่างมากจากการแข่งขันเช่นในกลุ่มรถยนต์ของญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ในประเทศไทยอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 ค่ายได้แก่ ซูซูกิ ซูบารุ และมิตซูบิชิได้ ลดหรือยกเลิกการผลิตในประเทศไทยโดยหันไปนำเข้ารถสำเร็จรูปแทน
ฮอนด้าถือเป็นค่ายที่ 4 ที่มีการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตสำหรับฮอนด้าโรจนะ ตั้งอยู่อำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มีทุนจดทะเบียน 5,460 ล้านบาท เป็นโรงงานใหญ่อันดับต้น ๆ ของ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2535 ในขณะที่โรงงานฮอนด้า ปราจีนบุรี เป็นโรงงานแห่งที่ 2 ตั้ง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี มีที่ดินทั้งหมดรวมกว่า 1,600 ไร่ โดยมีพื้นที่อาคารสำนักงานและอาคารโรงงาน 134 ไร่ (ประมาณ 214,000 ตร.ม.) เงินลงทุน 17,150 ล้านบาท เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนพ.ค. 2559
โรงงานฮอนด้าโรจนะ เคยประสบปัญหาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้โรงงานและรถยนต์ที่อยู่ในสายการผลิตและเตรียมส่งมอบเสียหายจำนวนมาก นอกจากนี้ในช่วงยอดขายลดลงในช่วงวิกฤติโควิด-19 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าในเมืองไทย 2 แห่ง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยากับปราจีนบุรี โดยฮอนด้าเป็นบริษัทรายแรก ๆ ที่ประกาศหยุดสายการผลิตชั่วคราว (วันที่ 27 มี.ค.63) เพื่อควบคุมสต๊อกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดในขณะนั้น
มีข้อสังเหตุที่น่าสนใจว่า การเผยแพร่ข่าวสารของฮอนด้าต่อสื่อมีรูปแบบที่ไม่เป็นทางการจากปกติที่เคยเผยแพร่แม้จะผ่านตัวแทนประชาสัมพันธ์โดยฮอนด้า ไม่ได้ใช้รูปแบบข่าวอย่างเป็นทางการแต่ใช้การแชร์ข้อมูลโดยอ้างแหล่งที่มาเพียงเล็กน้อย เหมือนจงใจปล่อยข่าว